เรื่องราวครูสลา ตอนที่ 5 ความหวังในความเงียบ

-อ้างอิง : หนังสือเพลงชีวิต “ศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ” -สำนักพิมพ์มิ่งมิตร - เขียนโดย ชูเกียรติ ฉาไธสง , คมทัพแสง -บรรณาธิการ แคน สาลิกา -เรื่องราวครูสลา ตอนที่ 5 ความหวังในความเงียบ โดย แคน สาลิกา : มีนาคม 2545 - บางขณะของความรู้สึก บทเพลงบางเพลงราวกับเพื่อนสนิทที่เข้าอกเข้าใจดิ่งลึกสู่ความเป็นจริงในชีวิตของผู้ฟัง เป็นสายใยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก และเห่กล่อมจากโลกย้อนมาสู่คนอีกครั้ง - บางครั้งกระซิบกระซาบอ่อนโยนราวท้องทะเลในคืนดาวพราย บางครั้งแข็งกร้าวรุนแรงราวทะเลบ้าในคืนมรสุม บรรเลงสอดคล้องเป็นท่วงทำนองแห่งชีวิต - แก่นของเพลงมาจากรากฐานความประทับใจบางสิ่งบางอย่างของผู้แต่งสิ่งนี้ก่อให้เกิดความหวังและพลังใหม่ ๆ ในการสำท้อนความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์และยุคสมัยที่ดำรงอยู่ออกมา ส่วนที่ว่าจะทำได้ “ถึง” ขนาดไหนนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้แต่งแต่ละคน - ข่าวที่เพลงของสลาได้ถูกนำไปบันทึกเสียงและขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ลือกระฉ่อนในย่านหมู่บ้านที่เขาเป็นครูอยู่ ทำให้เกิดความภาคภูใจไม่น้อย เพราะสำหรับชนบทที่นี่ การได้ลงข่าวหนังสือพิมพ์ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย - เพลงของสลาได้บันทึกเทป 2 เพลงโดยได้เป็นเพลงแรกของทั้งหน้าเอ และหน้าบี คือเพลง สาวชาวหอ และเพลง กบร้องให้ และที่สำคัญสาวชาวหอ ยังได้รับเกียรติเป็นชื่ออัลบั้ม ของนักเพลงรุ่นใหญ่คนนั้นด้วย นัยว่าเป็นการกลับมาของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ที่งดงามพอสมควร - ข่าวดียังไม่หยุดอยู่แค่นั้น สาวชาวหอ ยังได้รับการบันทึกเสียงเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเรื่อง พ่อตาจิ๊กโก๋ ซึ่งกำกับการแสดงโดย ประยูร วงศ์ชื่น ด้วย และมีจดหมายจากกรุงเทพฯ นัดหมายให้เขาเดินทางไปเซ็นมอบลิขสิทธิ์ และรับเงินพร้อมๆ กันไป - ด้วยวิถีชีวิตที่วนเวียนจำเจในเมืองอุบลฯ และอำนาจเจริญตั้งแต่อ้อนแต่ออก ทำให้ครูหนุ่มจากบ้านไร่ขีต้องลงทุนจ้างชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปทำงานในกรุงเทพฯ บ้างแล้วให้เป็นเพื่อนพาไป เราะตัวเขานั้นตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นหน้าตาของเมืองกรุงเทพฯ เลยว่าเป็นยังไง - ค่าจ้างให้ชาวบ้านคนนั้นเดินทางเป็นเพื่อนพอให้อุ่นใจเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งมากพอดูในสมัยนั้น ส่วนค่ากิน ค่าอยู่ สลสออกคนเดียวหมด ครั้นนั้นเขาได้รับเงินค่าเพลงเบ็ดเสร็จ 3,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นราคาพอสมควรสำหรับนักแต่งเพลงหน้าใหม่ - ที่สำคัญกว่านั้น เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นใบเบิกทางที่ดีในเส้นทางนักแต่งเพลงของเขาด้วย - แต่เรื่องราวในชีวิตคนก็ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังเสมอไป บางครั้งความสมหวังและความผิดหวัง ต่างผลัดกันเข้ามาเยี่ยมเยือนเราราวผู้ผ่านทางแปลกหน้าที่เต็มไปด้วยความปรวนแปรซับซ้อน สุดที่จะคาดเดาได้ - แต่ถึงที่สุดแล้วในความผิดหวัง ก็มีความงามของมันอยู่ เป็นความงามที่หล่อหลอมเคี่ยวกรำความรู้ให้แกร่งจนหัวใจซอกลึกเปิดเผยรอยยิ้มในความมือมิดของวันเวลาออกมา - นับจากวันนั้นสลาลุยแต่งเพลงใหม่ ๆ เป็นการใหญ่ ด้วยไฟฝันที่คุโชนเขาอัดเพลงตัวเองใส่เทปส่งไปตามค่ายเพลงที่เปิดรับแนวลูกทุ่งแทบทุกแห่งทำประวัติย่อ ๆ ชี้แจงไปด้วยว่า เคยแต่งเพลงให้นักร้องระดับ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องมรแล้วเพราะคิดว่าน่าจะเป็นเครดิตที่ทำให้การพิจารณาซื้อขายง่ายขึ้น - แต่ผลที่ออกมาคือความเงียบ แทบไม่มีค่ายเพลงไหนสนใจงานนักแต่งเพลงหน้าใหม่คนนี้เลย นอกจากเจ้าเก่า รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ที่เอาเพลงเขาไปร้องอีก 2-3 เพลงซึ่งก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก - ช่วงนี้สลา ผิดหวังและท้อแท้พอสมควร แต่เมื่อย้อนพิจารณาผลงานตัวเองใหม่ เขาก็สรุปได้ว่า เพลงที่แต่งอย่างเป็นบ้าเป็นหลังนั้น คุณภาพยังไม่ถึงขั้นจริงๆ สมควรแล้วที่ไม่ผ่านการพิจารณา - สลาเขียนจดหมายไปหา “ลพ บุรีรัตน์” ครูเพลงที่อยู่ในหัวใจเขาคนหนึ่งเพื่อขอคำและนำในการแต่งเพลง คราวนี้ไม่ผิดหวัง เพราะครูลพตอบกลับมาเป็นใบโรเนียวว่าด้วยเทคนิคการแต่งเพลงและช่องทางที่จะเอาเพลงไปเสนอค่ายเทปเป็นข้อ ๆ โดยละเอียด ซึ่งเป็นประโยชน์ขพอสมควร - ขณะนั้นเกิดวงดนตรีที่มีนักดนตรีข้าราชการครูล้วน ๆ ในชื่อ “คนโคก” ขึ้นมา วงคนโคกนับเป็นวงที่มีชื่อเสียงในภาคอีสานพอสมควรโดยเฉพาะในแวดวงชาวครูด้วยกัน เพราะมีผลงานเป็นอัลบั้มเพลงของตัวเองด้วย - มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ คนโคก มีโอกาสมาแสดงที่หอประชุมใหญ่ของอำเภออำนาจเจริญ ในงานประชุมข้าราชการครู ครั้งนั้นเขาและเพื่อนครูหนุ่มๆ ในโรงเรียนได้ไปรอดูอย่างสนใจ เพราะกระแสความนิยมวงนี้ในหมู่ชาวครูแรงมาก คนโคแสดงในวันนั้นได้น่าประทับใจจนสลาเกิดความคิดแวบเข้ามาว่า เขาและเพื่อนครูที่พอจะมีฝีมือทางดนตรีน่าจะทำวงดนตรีของชาวครูล้วน ๆ ขึ้นมาบ้าง - แต่นั้นก็เป็นเพียงความลึกๆ เท่านั้น -แดดยามบ่ายจัดจ้าจนลานดินบ้านไร่ขีราวกับมีประกายระริกแต้มเป็นจุดๆ เหมือนผิวน้ำต้องประกายแดด หมูเงาเข้มดำใหญ่น้อยต่างพากันหลบเร้น ซุกใต้กิ่งก้านของมวลไม้และกองดินที่พูนสูง เป็นหย่อม ๆ นั้นเป็นสัญญาณของเทศกาลทำบุญใหญ่ที่มักมีคนต่างถิ่นมรทอดผ้าป่าในละแวกชนบทแห่งนี้ทุกปี - คณะกรรมการวัดบ้านนาดี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันเข้ามาปรึกษาสลาเรื่องการเตรียมมหรสพไว้ต้อนรับชาวกรุงเทพฯ ที่จะมาทำบุญ เพราะเขามีชื่อพอสมควรในฐานะนักเพลงประจำท้องถิ่น - “ทำยังไงดีครับครู...” เราไม่มีเงินพอจะจ้างหมอลำมาแสดงซะด้วย...ครูพอมีหนทางอะไรช่วยทางวัดเราไหมครับ ไม่งั้นขายหนาคนกรุงเทพฯ แน่เลย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น