เรื่องราวครูสลา ตอนที่ 2 อดีตรักทุ่งนาแห้ง

อ้างอิง : หนังสือเพลงชีวิต “ศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ”
สำนักพิมพ์มิ่งมิตร เขียนโดย ชูเกียรติ ฉาไธสง , คม ทัพแสง
บรรณาธิการ แคน สาลิกา
เรื่องราวครูสลา ตอนที่ 2 อดีตรักทุ่งนาแห้ง
โดย แคน สาลิกา : มีนาคม 2545

ลมว่าวโชยพัดหอบเศษฟางปลิวคว้างทุกทิศทาง เสียงแคนเสียงซอดังแว่วมาตามลมเหนือแผ่นดินบ้านป่าอย่างอ้อยสร้อย ประสานกับเสียงร้องหมอลำของใครบางคน ราวคำกระซิบบอกข่าวของอาคันตุกะจากแดนไกลอยู่เช่นนี้วันแล้ววันแล้ววันเล่าปลอบประโลมหมู่บ้านแห่งนี้ให้พอคลายเหงาได้บ้าง ว่ากันว่า แหล่งกำเนิดมีอิทธิพลที่ส่งผลต่อทางเดินชีวินคนไม่มากก็น้อยอย่างน้อยก็ในแง่ทัศนะเชิงวัฒนธรรมที่เจนตาเจนใจจนคุ้นชินตั้งแต่เยาว์วัยหล่อหอมเป็นรากฐานที่แน่นหนา สลา คุณวุฒิ ก็เช่นกัน อิทธิพลเพลงพื้นบ้านอีสานที่บ้านนาหมอม้า อำเภอเมือง จัดหวัดอำนาจเจริญ กล่อมเกลาหัวใจมาตั้งแต่เด็กๆโดยมีต้นแบบมาจากแม่บังเกิดเกล้าของเขานั้นเอง ศิลปินต้องเป็นคนช่างคิดช่างฝัน ภาพวัยเยาว์ของสลาถูกเขาเก็บไว้ในซอกมุมหนึ่งของความทรงจำเสมอมา - บางขณะยังได้ดึงออกมาใช้เป็นวัตถุดิบในงานเพลงตัวเองบ่อย ๆ ภาพทุ่งนากว้างเต็มไปด้วยต้นข้าวเหลืองอร่ามกลางแสงตะวัน และท้องฟ้ายามค่ำที่มีดาวแซมระยิบติดตาตรึงใจเขามาตลอด บางครั้งเมื่อทำนาที่บ้านนาหมอม้าไม่ได้ผล พ่อก็จะพาครอบครัวร่อนเร่เข้าไปในหมู่บ้านบึกซึ่งไกลไปอีก ดังนั้น วิถีชีวิตคนบ้านป่าจึงถูกสลาซึงซับไว้จนหมดสิ้น ช่วงนั้นภาพชีวิตของสลาคล้ายดังโทนภาพจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์ซึ่งเน้นความรู้สึกสุขและเศร้า งดงามและอ้างว้าง แต่ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศสีสันอันประทับใจ "จารย์แก้ว" ลุงของเขาเป็นศิลปินพื้นบ้าน แต่งเพลงร้องรำได้เองด้วยปฏิภาณกวีอันโดดเด่น เป็นที่เลื่องลือในหมู่บ้านมาช้านานจนแม้ลุกเสียชีวิตไปแล้วแต่บทเพลงที่แต่งก็มิได้สูญหายไปไหน เพราะมีน้องสาวซึ่งก็คือแม่ของสลา นำมาร้องรำให้ฟังอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะเพลงกล่อมลูก ซึ่งนับเป็นบทเพลงชีวิตเพลงแรกของเขา ผลงานเพลงของลุกมีมากมาย แต่ที่น่าเสร้าก็คือ สลาไม่มีโอกาสเห็นหน้าลุกคนี้เลย เพราะได้จากโลกนี้ไปตั้งแต่เขายังไม่เกิด เหลือแต่เพียงผลงานไว้แทนตัว วิทยุทรานซิสเตอร์เป็นมหรสพที่ทันสมัยที่สุดสำหรับเด็กชายบ้านป่าผู้เกิดในคืนที่มีหนังกลางเปลงมาฉายที่วัดใกล้บ้าน เป็นหนังญี่ปุ่นเรื่อง"สิงห์สลาตัน" เมื่อ พ.ศ. 2505 จึงเป็นที่มาของชื่อ สลา บุตรชายคนที่ 5 ของครอบครัวพ่อ บุญหลาย - แม่ก้าน คุณวุฒิ วัฒนธรรมเพลงรำวงในหมู่บ้านนาหมอม้า ก็เป็นมหรสพใกล้ตัวอีกอย่างหนึ่ง และบทเพลงในแนวนี้เป็นฝีมือการเขียนของลุกหลายเพลง กระทั่งบัดนี้ก็ยังมีคนนำมาขับร้องอยู่ นอกจากเพลงรำวงแล้ว เพลงพื้นบ้านอย่าง "หมอลำ" ประเภทต่าง ๆ ก็เป็นที่นิยมของสาวบ้านไม่แพ้กัน ลักษณะหมอลำนี้จะแตกต่างกันไป แล้วแต่สำเนียงหรือที่มา และสิ่งนี้เป็นรากฐานวัฒนธรรมที่ประสมเข้าในตัวสลาตอนวัยเยาว์ทั้งสิ้น เสียงซอจากก้านนิ้วนักเพลงตาบอดนาม "ครูบุญมา" เอ็นดั่งดนตรีบรรเลงขับกล่อมบ้านป่า - นาหมอหม้อ ในทุกค่ำคืนครูบุญมาเป็นนักเพลงตาบอดที่จัดระดับความสามารถเป็นศิลปินประจำหมู่บ้านได้คนหนึ่ง ซอของแกทำจากไม่ไผ่ติดกับปี๊ใส่ลูกอม (ฮอลล์)ฝีมือสีซอและด้นกลอนสดนับว่าฉกาจฉกรรจ์ ทั้งเล่นทั้งร้องได้แพรวพราวรอบตัว หนุ่งๆ ในหมู่บ้านมักไปขอให้ครูบุญมาแต่งกลอนสำหรับเกี่ยวสาวให้เสมอ จ.ส.อ. อุทาน คุณวุฒิ พี่ชายของสลาเป็นคนหนึ่งซึ่งชอบเขียนกลอนและมักชวนน้องชายไปดูครูบุญมาสีซอ ด้นกลอนสด แทบทุกวัน ครูบุญมาแม้ตาบอดทั้งสอบข้าง แต่ชีวิตก็มีบางมุมที่น่าอิจฉาเพราะแกมีผู้หยฺงมาหลงไหลมากมาย จนบางคนถึงขนาดยอมเป็นเมียเลยที่เดียว นี้เป็นผลพวงจากเสน่ห์ความเป็นศิลปินของแกโดยแท้ และครูบุญมาคนนี้ก็นับเป็นครูเพลงในยุคเริ่มต้นของเขาได้คนหนึ่ง นอกจากเเพลงพื้นบ้านแล้ว งานลักษณะวรรณกรรมก็มีผลต่อแรงบันดาลใจของสลาไม่น้อย ช่วงเรียนชั้น ป.7 เขามีโอกาสอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้น ชุด มือที่เปื้อนชอล์ก ของ นิมิตร ภูมิถาวร ซึ่งหนึ่งในเล่มนั้นมีเรื่อง "เด็กที่ครูไม่ต้องการ" ที่เขาประทับใจเป็นพิเศษอยู่ด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญทำให้อยากเป็นนักเขียนแบบ นิมิตร ภูมิถาวร และฝึกฝนการเขียนบทกลอน,เรื่องสั้น และนวนิยายตั้งแต่บัดนั้น แต่เส้นทางสายวรรณกรรมของสลาดูช่างขรุขระสิ้นดี เขาบอกว่าช่วงเรียนระดับมัธยมได้ฝึกเขียนหนังสือค่อนข้างมาก แต่เขียนไม่เคยจบสักครั้ง เรื่มได้แค่ 9-10 บรรทัดก็เริ่มตันแล้ว...ไม่มีทางไป เขาเล่า อย่างไรก็ตาม นิสัยรัการเขียนก็เป็นผลดีที่ทำให้สลาเริ่มเขียนกลอนเป็น และนับเป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียนเพลงในเวลาต่อมา หลังจากพี่ชายกับเขาแอบชื่นชมศิลปินบุญมาแต่งกลอนจีบสาวแล้ว ก็คิดว่าพวกเขาน่าจะแต่งกันเองบ้าง จึงเริ่มต้นจากพี่ชายนำเอานำนองเพลงดังมาแปลงเนื้อใหม่ พอแต่งเสร็จก็นำไปร้องในวงโปงลางประจำหมู่บ้าน แต่ผมคิดว่า เอาทำนองเขามาไม่ดีก็เลยอยากแต่งใหม่ แต่งเสร็จก็ร้องอวดเพื่อน ไม่ได้จริงจังอะไร แต่ที่มุ่งมั่นจริงคือการอยากเป็นนักเขียน ดังนั้นในระหว่างการปั่นจักรยานจากบ้านนาหมอม้าไปเรียนหนังสือ ชั้นมัธยมที่โรงเรียนป่าติ้ววิทยา สลาจะร้องเพลงๆ หนึ่งให้เพื่อนฟังอยู่เสมอ มันเป็นเพลงแรกในชีวิตที่เขาแต่งขึ้นมาจากแรงบันดาลใจในวัยเด็ก ที่เคยไล่ตั๊กแตนหรือไต้กบไต้เขียนที่ทุ่งนาแห้งท้ายบ้าน จึงให้ชื่อเพลงนั้นว่า อดีตรักทุ่งนาแห้ง สลายอมรับว่า การเขียนเพลงนี้ได้รับอิทธิพลมาจากเพลง คอยรักใต้ต้นกระโดน ที่ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แต่งให้ "ดาว บ้านดอน" บันทึกแผ่นเสียงและครูเพลงเมืองนักปราชญ์คนนี้ก็คือ ต้นแบบในการแต่งเพลงในเวลาต่อมา หลังจบชั้นมัธยม สลาเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ช่วงนี้เขาได้รับแรงบันดาลใจจากนักเขียนหลาย ๆ คน อาทิ คมทวน คันธนู,คำพูน บุญกวี,ชาติ กอบจิตติ,คำหมาน คนไค ทำให้ฝึกฝนการเขียนต่อไปอย่างหนักโดยไม่ยอมแพ้ ขณะนั้นความฝันในการดำเนินชีวิตของเขามีเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือถ้าไม่เป็นครูตามที่เรียนมา ก็ต้องเป็นนักเขียนอาชีพให้ได้ เรื่องจะเป็นนักแต่งเพลงหรือนักร้อง ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่เล่าเรื่องครูสลา ชอบงานเพลงครูมาก ตนเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และเคยอยากเขียนหนังสือเหมือนกัน แต่ยังคงสถานะแค่ความอยากมาจนบัดนี้ (ไม่ได้เขียนไง)��

    ตอบลบ