ขวัญใจคนยาก และยาใจคนจน


-นั่นเป็นเวลาที่สายฝนพรำจนทั้งเมือง พร่ามัวไปด้วยหยาดน้ำละอองบางๆ ของมันโชยแผ่วตามแรงลมเป็นริ้วคลื่นไปทั้งท้องฟ้า รถปิกอัพคันนั้นแล่นบนถนนอย่างระมัดระวัง แล้วจึงไปจอดนิ่งหน้าร้านขายเทปใหญ่กลางเมืองแห่งหนึ่ง คนขับเหลือบมองนาฬิกาบนข้อมือแล้วก็ถอนหายใจยาว วันนั้นเขาตั้งใจมาซื้อเทปลูกทุ่งม้วนใหม่ๆ ไปศึกษาเพลงคนอื่นบ้าง แต่เมื่อมองสายฝนเขาก็เลือกที่จะนั่งคอยสบายๆในรถมากกว่า ชายหนุ่มคิดถึงงานแต่งเพลงที่กำหนดส่งในเร็ววันนี้แล้วก็นึกหนักใจ เพราะมันยังไม่สมบูรณ์อย่างที่ใจต้องการเลย เยื้องไปหน่อยมีผู้ชายอีกคนแต่งตัวเรียบๆ นั่งอยู่บนรถมอเตอร์ไซค์ท่าทางเหมือนคอยใครอยู่ สักครู่ก็มีผู้หญิงหน้าตาดี ถือของพะรุงพะรังออกมาจากห้างสรรพสินค้าใกล้ๆกันนั้น ชายหนุ่มรีบเข้าไปช่วยถือของอย่างกกุลีกุจอทั้งคู่ยืนปรึกษากันพรางแหงนมองฟ้าเป็นระยะแล้วก็ตัดสินใจขึ้นมอเตอร์ไซค์คันนั้น ฝ่าสายฝนพรำออกไป กิกริยาของทั้งคู่บอกให้รู้ว่าเป็นคู่รักกันแน่ๆ และมีฐานะไม่ค่อยดีนัก ภาพนั้นมีเสน่ห์บางอย่างทำให้สลาฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้ ร่างคู่รักทั้งสองหายลับไปจากสายตาแล้ว หากแต่ความประทับใจบางอย่างกลับยังอ้อยอิ่งในความรู้สึกของเขา มันแรงและหนักขึ้นทุกที จนครูหนุ่มรีบๆหาปากกาพร้อมกระดาษมาร่างเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆทันที “เป็นแฟนคนจนต้องทนหน่อยน้อง” ประโยคแรกหลุดออกมาอย่างรวดเร็ว และประโยคต่อมาก็ติดตามอย่างต่อเนื่องเหมือนสายน้ำไหลหนุนเนื่องตามกันโดยไม่ขาดสาย เพราะภาพที่กระทบใจจนสัญชาตญาณมืออาชีพทำให้อดใจไม่ได้ เป็นเพลงที่สลาพอใจเพลงหนึ่ง และตั้งใจเอาไปให้นักร้องหนุ่มนาม “ไมค์ ภิรมย์พร” ในสังกัดแกรมมี่โกลด์ร้อง แล้วคลื่นชีวิตครูหนุ่มจากบ้านนาหม้อม้า ถูกซัดสาดมาไกลถึงประตูบริษัทเทปยักษ์ใหญ่นี้ได้อย่างไร ความจริงหลังจากที่เวียนว่ายอยู่ใน ยุทธจักรนักแต่งเพลงลูกทุ่งระยะหนึ่งเพลงของสลาก็เริ่มเป็นที่ต้องการของค่ายเพลงต่างๆมากยิ่งข้น แต่เขาตั้งข้อแม้ว่าทุกบริษัทที่ติดต่อมา ขอให้มีเพียงสัญญาทางใจกันเท่านั้น เพราะตัวเองยังไม่อยากมีพันธะผกมัดกับใคร ว่าไปแล้วตอนนั้นรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเขียนเพลงลูกทุ่งและหมอลำเป็นหลัก การใช้ชีวิตต่างจังหวัด ก็ทำให้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากมายนัก ถึงขนาดว่าเงินเดือนครูทั้งหมดหลังจากหักลบกลบหนี้ต่างๆแล้ว(เขายืนยันว่าครูส่วนใหญ่เป็นหนี้ทั้งนั้น เช่น หนี้ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์)เขาจะนำเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดบริจาคเข้าโรงเรียน เพราะตามเกณฑ์แล้วโรงเรียนเล็กๆในชนบทมักได้งบประมาณค่อนข้างน้อย เขาทำอย่างนี้มานาน โดยไม่เคยรายงานไปทางอำเภอเพื่อเอาหน้าเอาตาเลย เพราะถือเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว “ผมค่อนข้างดวงดีนะ…ส่วนหนึ่งคงมาจากการาที่เราเป็นคนนุ่มนวลเวลาเดือดร้อนหากไปเอ่ยปากกับใครเขาก็ดูแล… ถึงบอกผมว่าเป็นหนี้บุญคุณผู้หลักผู้ใหญ่เกือบทุกค่ายเพลง ผมเจอบริษัทเทปจริงๆ แล้วกลับดีกว่าที่เราคาดหวัง… เคยได้ยินเหมือนกันที่เพื่อนๆเจอปัญหาอะไรต่างๆ แต่งตัวผมกลับไม่เป็นไร… อาจเป็นเพราะเราเป็นครูหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่จะได้รับเกียรติจากนายห้างค่ายต่างๆค่อนข้างดี” ตลาดเพลงลูกทุ่งพุ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตัวเลือกอันหนึ่งของค่ายเทปนอกจากเพลงแนวอื่นๆทั่วไป ตามปกติค่ายเทปต่างๆ จะมีเพลงตระกูลนี้เอาไว้เป็นตัวเลือกของคนฟังอยู่แล้ว แต่ในยุคที่ยิ่งยง ยอดบัวงาม เอาเรื่องราวชีวิต “สมศรี” มาร้องจนโด่งดังไปทั่วประเทศ ทำให้ค่ายเพลงต่างๆหันมาใส่ใจเพลงตระกูลนี้มากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน แกรมมี่ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่บุกเบิกตลาดเพลงลูกทุ่งมานาน ตั้งแต่ยุคก๊อต-จักรพรรณ์ อาบครบุรี มากระทั่งถึงปัจจุบัน ที่รวบรวมศิลปินใหญ่น้อยไว้มากมายไม่แพ้ค่ายอื่น โดยแยกส่วนลูกทุ่งและหมอลำไว้ที่บริษัทแกรมมี่โกลด์ ซึ่งมี กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ เป็นผู้ดูแลอยู่ สลาเข้ามาสู่ชายคาบริษัทแกรมมี่จากการชักนำของเพื่อนรัก วิทยา กีฬา เจ้าเก่า โดยถูกมอบหมายให้เขียนเพลงป้อนนักร้องรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงนักนาม “ไมค์ ภิรมย์พร” ตอนนั้นไมค์ ภิรมย์พรกำลังออกเทปแนวลูกทุ่งผสมหมอลำของตัวเองในชุดที่ 2 ซึ่งสลาก็มีโอกาสเขียนเพลง น้ำตาหล่นบนโต๊ะจีน ให้ 1 กลอนลำเท่านั้น จนมาถึงชุดที่ 3 ของไมค์ ซึ่งเป็นหมอลำล้วนๆ ชื่อ “ไมค์ลำโสด” สลาจึงมีโอกาสแสดงฝีมือถึง 9 เพลง(อีก 1 เพลงเป็นของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา)แต่ชุดนี้ก็ยังเจาะตลาดไม่ได้ มาถึงชุด 4 ในชื่อ “หัวใจลอยตัว” ซึ่งเป็นหมอลำล้วนๆก็ยังเงียบอีกจนกระทั่งชุดที่ 5 ทางทีมงานจึงวางแผนที่จะเปลี่ยนแนวเป็นลูกทุ่งล้วนๆบ้างและมอบให้สลาเป็นหนึ่งในผู้วางแนวเพลงในชุดนี้ ครูหนุ่มเดินทางกลับอุบลฯ พร้อมกับความคิดที่หมกมุ่นเพียงเรื่องนี้อย่างเดียว จนในที่สุดท่ามกลางวันเหงาๆที่มีสายฝนพรำหน้าร้านขายเทปและภาพเคียงคู่ของหนุ่มสาวแปลกกหน้านั้น บทเพลงขวัญใจคนยากก็เกิดขึ้นมาเงียบๆ “ขวัญใจคนยาก” ของสลาถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อความเหมาะสมจาก อ๊อด อมตะ ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ในชุดนี้ กลายเป็น ยาใจคนจน แทนในเวลาต่อมา ♫ ♫ ♫ แล้ววันนั้นของสลาก็มาถึง เมื่อแฟนเพลงให้การต้อนรับอัลบั้ม “ยาใจคนจน” อย่างท่วมท้น ทุกค่ายเพลงจับจ้องมาที่ตัวเขา เหมือนยุคหนึ่งที่นายห้างแผ่นเสียงจะมุ่งหน้าไปหาไพบูลย์ บุตรขัน หรือยุคหลังอย่างครูชลธี ธารทอง หรือครูลพ บุรีรัตน์ สลาอาจเป็นนักแต่งเพลงลูกทุ่งที่แตกต่างจากครูเพลงหลายคน ที่ส่วนใหญ่เติบโตมาจากวงลูกทุ่งโดยตรง แต่เขามาจากวงการข้าราชการครูประถมศึกษา และหลังจากวนเวียนสอนหนังสืออยู่ในละแวกนั้นหลายโรงเรียน ปี 2540 เข้าจึงย้ายมาเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านดอนชี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปรากฏการณ์ยุคทองของเพลงลูกท่งในทศวรรษใหม่ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง ทว่าแต่ละครั้งก็สร้างความสั่นสะเทือนวงการเพลงในวงกว้างจนน่าตกใจเสมอ โดยเฉพาะผลงานด้านธุรกิจที่นักร้องลูกทุ่งขายเทปได้เกินล้านม้วนติดๆ กันหลายต่อหลายคน จนกลายเป็นตลาดสำคัญที่ค่ายเพลงต่างๆต้องหันมาเอาใจใส่มากขึ้น แทนที่จะมองข้ามแบบในอดีต คนฟังเพลงลูกทุ่งปัจจุบันมีทุกประเภท ทุกระดับ ตั้งแต่รัฐมนตรียันชาวไร่ชาวนา… ท่อนฮุคของเพลงลูกทุ่งดีๆ มักติดปากคนฟังได้เร็วกว่าเพลงประเภทอื่น เพราะโดยนัยบางอย่าง เพลงลูกทุ่งมีกลิ่นอายซึ่งแสดงจิตวิญญาณแบบไทยๆ ค่อนข้างชัดเจนกว่าบทเพลงในแนวอื่น “ ยาใจคนจน” แม้จะเกิดในยุคเศรษฐกิจซบเซา แต่ก็โด่งดังไปทั่วประเทศและทำยอดขายวิ่งผ่านหลักล้านม้วนไปได้แบบสบายๆและอัลบั้มชุดนี้สลาฝากฝีมือเขียนไว้ถึง 6 เพลงรวดซึ่งนับว่าไมใช่ธรรมดาเลย หากจะวัดเอกลักษณ์ในงานเพลงสลา เขาคือตัวเชื่อมของยุคสมัยที่กลมกลืนและลงตัว จนสามารถสร้างรูปแบบเพลงลูกทุ่งในอีกบุคลิกหนึ่งขึ้นมาได้ ในขณะที่รากฐานส่วนหนึ่ง สลารับมาจากครูเพลงอาวุโสอย่างครูไพบูลย์ บุตรขัน และครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา อย่างเต็มๆ ตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่ง เขาก็หลอมรวมเพลงพื้นบ้านอีสาน และหมอลำร่วมสมัยจนกลายเป็นเส้นทางแยกสายใหม่ ตัดจากเส้นทางหลักที่มีคนถางไว้ก่อนแล้ว กระทั้งแนวเพลงเพื่อชีวิต หรือเพลงวัยรุ่นสตริงยุคใหม่ ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของครูหนุ่มคนนี้ และยังได้นำกลิ่นอายตรงนั้นมาใส่ในผลงานตัวเองเสมอ แต่เขาจะยึดหลักว่าไม่เน้นส่วนนี้จนกลบส่วนอื่น ซึ่งก็คือพยายามให้องค์รวมของเพลงยังคงความเป็นลูกทุ่งอยู่เช่นนั้น การเดินทางเข้าสู่ถนนนักแต่งเพลงอาชีพในเมืองหลวง มีข้อดีที่เห็นชัดคือ ทำให้สลารู้จักทศนิยมการฟังเพลงของคนในเมือง ว่าต้องการบริโภคงานในลักษณะใด เขาหลอมเพลงเพื่อชีวิตที่ได้รับอิทธิพลจากหงา คาราวาน และแอ๊ด คาราบาว (สมัยทำวงเทียนก้อม) เข้ากับเพลงวัยรุ่นแนวไม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกริช ทอมมัส หนึ่งในแกนหลักของแกรมมี่โกลด์ (คนนี้มีส่งผลอย่างมากต่อโลกทัศน์การเขียนเพลงของสลาในระยะหลัง) จนกลายเป็นสไตล์ใหม่ของตัวเองในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นชัดในงานของสลา คือเพลง ยาใจคนจน ที่เกิดจากส่วนผสมของวัฒนธรรมเพลงเหล่านี้ค่อนข้างเด่นชัดโดยเฉพาะช่วงท่อนแยก… อาทิ “ลำบากยากเข็ญ เช้าเย็นขอให้เห็นหน้า หากมีปัญหา น้องอย่าตัดสายสัมพันธ์ อยู่เป็นแรงใจ เติมไฟให้กันและกัน เพียงเรามีเราเท่านั้น สร้างฝันให้สมดั่งใฝ่” มาลองวิเคราะห์เพลงนี้ให้ลึกๆ คำต้นๆ ตั้งแต่ ลำบากยากเข็ญ มาจนถึง “น้องอย่าตัดสายสัมพันธ์” จะยังได้กลิ่นของเพลงลูกทุ่งแนวเก่าชัดเจน แต่พอมาถึงท่อน “อยู่เป็นแรงใจ เติมไฟให้กันและกัน เพียงเรามีเราเท่านั้น สร้างฝันให้สมดั่งใฝ่” คนฟังจะเห็นภาพเพลงเพื่อชีวิตรวมกับเพลงแนวสตริงยุคใหม่ขึ้นมาทันที ซึ่งหากไปย้อนศึกษาดูเนื้อเพลงแบบนี้จะไม่ค่อยปรากฏในสารบทเพลงลกทุ่งยุคเก่ามาก่อน ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา นักแต่งเพลงเลื่องชื่อ ผู้สร้างสรรค์งานเพลงอมตะลูกทุ่งไว้มากมายโดยเฉพาะแนวลูกทุ่งอีสาน จนได้สมญานามว่า “ไพบูลย์ บุตรขันแห่งที่ราบสูง” ได้พูดถึงแนวเพลงแบบสลาไว้น่าสนใจ “ เพลงของสลา มันจะมีความแน่นในเนื้อหาสาระ และก็ความคมคาย คือเพลงของเขามันจะไม่หลวม มันจะแน่นทั้งสี่ท่อน และก็ไม่ใช่แน่นแบบยัดเยียดมันจะมีความสละสลวยความงดงามในนั้น ในเนื้อหาสาระ ฟังแล้วได้ทั้งด้านภาษา ได้ทั้งความไพเราะของบทเพลง หรือได้ทั้งความประทับใจ นี้คือลักษณะเด่นของงานเขา” “หรือการพูดถึงความรัก ก็ทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น ว่ามีการทำมาหากิน มีชีวิตจริงๆเข้าไปด้วย คืออันนี้มันเป็นการเอาเรื่องชีวิตจริงให้มาเป็นเรื่องที่น่าฟังและก็ค่อนข้างโรแมนติก ค่อนข้างประทับใจ กินใจ นี้เป็นศิลปะที่อาจารย์สลาทำได้ดี อย่างเพลงงยาใจคนจนฟังดูแล้วเหมือนอ่านเรื่องสั้นที่ดีๆเรื่องหนึ่ง” เราจึงพบว่าบทเพลงลูกทุ่งในช่วงต้นทศวรรษใหม่ มีหลายต่อหลายเพลงที่ยึดแนวเพลงแบบ “ยาใจคนจน” หรือที่พูดกันในวงการเพลงลูกทุ่งว่าเป็นเพลงแบบสลา